ซักส้าว

ความเป็นมา

                กาเล่นซักส้าวมีลักษณะคล้ายๆการเล่นชักเย่อ แตกต่างกันที่การเล่นซักส้าวใช้ไม่ไผ่หรือไม้รวกยาวๆแทนเชือก คำว่าซักส้าวเป็นคำเรียกตามภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือ หมายถึง ไม้ไผ่ทั้งลำใช้สำหรับสอยผลไม้ โดยเรียกไม้ไผ่หรือไม้รวกที่มีขนาดเล็กแต่ลำยาวว่า ส้าว พจนานุกรมล้านนาไทย ให้ความหมายคำว่า ส้าว  ว่าหมายถึง ของสิ่งยาวที่ต่อจากของสิ่งใหญ่ เพื่อไปกระทบกับสิ่งอื่นที่อยู่ไกลออกไป อย่างไม้ยาวสำหรับสอยหรือค้ำ เรียกไม้ส้าว (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๓๔ : ๑๒๙๖) จากหลักฐานพบว่ามีการเล่นกันมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นที่นิยมเล่นกันมาก ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน การซักส้าวเป็นการเล่นของคนหนุ่มสาวในสมัยเก่า นิยมเล่นในงานประจำปีหรืองานประเพณีต่างๆ เช่น งานตรุษสงกรานต์ เป็นต้น

                ผู้เล่น

นิยมเล่นกันในหมูคนหนุ่มคนสาว โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จำนวนผู้เล่นแต่ละฝ่ายจะมากน้อยเพียงใดก็ได้ แต่ฝ่ายชายจะให้เกียรติฝ่ายหญิงด้วยการจัดผู้เล่นให้มีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายหญิงอย่างน้อย ๓ คน

                อุปกรณ์การเล่น

                ไม้ไผ่หรือไม้รวกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ นิ้ว ยาวประมาณ ๕-๖ วา (ประมาณ ๑๐-๑๒ เมตร) ๑ลำ มีเชือกหรือด้ายสีผูกไว้ตรงกึ่งกลางท่อนไม้

                สถานที่เล่น

                นิยมใช้ลานบ้านบริเวณที่ติดกับชานเรือนเป็นที่เล่นถือเอาเขตชานเรือนเป็นเส้นแบ่งเขตแดน โดยผู้เล่นจะทำเส้นลงบนพื้นตามแนวชานเรือน และทำเส้นลงบนพื้นอีก ๒ เส้น เข้าไปในเขตชานเรือนเส้นหนึ่ง นอกเขตชานเรือนเส้นหนึ่ง ให้ขนานและห่างจากเส้นแบ่งเขตด้านละ ๑ วาเป็นเส้นชัยของแต่ละด้าน

                วิธีเล่น

                ๑.ให้ฝ่ายชายอยู่นอกชานเรือน และฝ่ายหญิงอยู่ใต้ถุนเรือน ทั้ง ๒ ฝ่ายจับไม้ยาว (ไม้ส้าว) ให้มั่น ในท่าเตรียมตรึง ให้เชือกหรือด้ายสีที่ผูกไว้กึ่งกลางไม้อยู่ตรงกับเส้นแบ่งเขตแดน

๒.เริ่มเล่นโดยผู้เป็นกรรมการให้สัญญาณเริ่มเล่นด้วยการจุดประทัด หรือเคาะไม้ เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณดังขึ้น ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามดึงไม้เข้ามาในเขตเส้นชัยของฝ่ายตน

๓.ฝ่ายใดดึงให้เชือกหรือด้ายสีที่ผูกไว้กึ่งกลางไม้เข้ามาในเขตเส้นชัยของฝ่ายตนได้ ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ ตามปกติจะเล่นกัน ๓ ครั้ง หรือ ๕ ครั้ง ตามแต่จะตกลงกัน ฝ่ายใดชนะมากครั้งกว่าจะเป็นผู้ชนะ

                กติกา

                ๑.ผู้เล่นทั้งสองต้องตกลงกันเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่น จำนวนครั้งที่ทำการเล่น และอื่นๆก่อนการเล่น

                ๒.ห้ามผู้เล่นทั้งสองฝ่ายยึดหรือเหนี่ยวเสาเรือนหรือสิ่งอื่นใด เพื่อช่วยในการเล่น

                ๓.ให้มีกรรมการตัดสิน ๑ คนทำหน้าที่ให้สัญญาณเริ่มเล่น และตัดสินผลการเล่น